วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555


คราวนี้ขอแนะนำเครื่องดนตรีน่ารักๆ Ukulele ให้คุณได้ รู้จักกัน นี่ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมันอยู่คู่โลกแห่งดนตรีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว โดยมีต้นกำเนิดจากการที่ชาวพื้นเมือง ในฮาวาย ใช้วิชาครูพักลักจำ ประดิษฐ์เครื่องดนตรีเลียนแบบเครื่องดนตรีคล้ายกีตาร์ นามว่า Cavaquinho ที่ชาวโปรตุเกสขนมาเล่นให้ชาวฮาวายได้สดับกัน ต้องขอบคุณชาวโปรตุเกส ที่อุตส่าห์หอบเอาเจ้าเครื่องดนตรีนี้ ขึ้นเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งไกล เพราะหากชาวฮาวายเอี้ยนไม่นำมาประยุกต์ใช้เป็นการใหญ่ มันก็คงไม่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกดังทุกวันนี้หรอกครับ 

ช่วงแรก Ukulele ใช้สำหรับบรรเลงเพลงฮาวายเอี้ยนขับกล่อมชาวเกาะให้ครื้นเครง โดยมีพระราชาชาวเกาะ King David Kalakaua เป็นผู้สนับสนุนใหญ่ จนใครๆ ในเกาะก็พากันเล่นเจ้าตัวจิ๋วนี้ จากนั้นตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่สอง Ukulele ก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น และเนื่องจากขนาดอันกะทัดรัดและราคาที่ไม่แพง มันเปลี่ยนสถานะจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองกลายเป็นเครื่องดนตรีสากล มีนักดนตรีจาก แผ่นดินใหญ่อเมริกานำมาเล่นกันหลากหลายแนว ไม่เว้นแม้แต่ศิลปินแจ๊ซ ความโดดเด่นในวงการเพลงของมันมาถึงจุดสุดยอดในช่วงยุค 60"s ก่อนที่ความนิยมจะเริ่มซาหายไปตามกาลเวลา จนเมื่อช่วงปลายยุค 90"s นี้เอง ที่ Ukulele กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เมื่อ Jake Shimabukuro มือ Ukulele หนุ่มน้อยเชื้อสายญี่ปุ่น-ฮาวาย นำมันมาบรรเลงเพลงร่วมสมัยด้วย ลีลามากลวดลายน่าทึ่ง จนได้รับสมญานามว่าเป็น อัจฉริยะ Ukulele 

ปัจจุบันนักฟังเพลงหลายท่านน่าจะเคยเห็น เคยได้ยินเสียงของมันมาแล้ว เพราะปัจจุบันมีศิลปินพ็อปชั้นนำเอามาขึ้นเวทีกันบ่อยๆ ที่เห็นชัดๆ ก็เห็นจะเป็น Jack Johnson และ Jason Mraz คนส่วนใหญ่เห็น แต่คนส่วนมากมักไม่ทราบว่ามันคืออะไร ทุกครั้งที่ผมหยิบเจ้า Ukulele ขึ้นมาเล่น มักจะมีคนหัวเราะแล้วถามว่า กีตาร์จิ๋วนี่มันเล่นได้จริงๆ หรือ ? คำตอบของผมคือ 1.มันไม่ใช่กีตาร์ วิธีจับคอร์ด และการตั้งสายต่างๆ ไม่เหมือนกันเลย แต่หากเล่นกีตาร์มาก่อน ก็ปรับตัวทำความเข้าใจได้ไม่ยาก 2.ถึงไม่ใช่กีตาร์ แต่มันก็เล่นได้ไพเราะเพราะพริ้งไม่แพ้กีตาร์เลยครับ แถมสายไนลอนจับสบายมือ เล่นง่าย และให้เสียงใสๆ ฟังแล้วคิดถึงกลิ่นอายทะเล 

อันชื่อ Ukulele นั้น แปลห้วนๆ แบบชาวเกาะชิวๆ ได้ว่า "หมัดกระโดด" ซึ่งน่าจะมาจากลักษณะของนิ้วผู้เล่น ที่ต้องสลับที่กดเด้งไปมาบนคอ Ukulele ที่ดูแบบมีศิลปะแล้ว คล้ายกับตัวหมัดกำลังกระโดดไปมาบนทุ่งหญ้า ส่วนอีกศาสตร์กล่าวว่า ตามหลักภาษาฮาวายเอี้ยน Uku แปลว่า "ของขวัญ" ส่วน Lele แปลว่า "การมา" ซึ่งน่าจะพอกล้อมแกล้มแบบมีเหตุผลไปได้ว่า ความหมายของมันคือ "ของขวัญที่ได้มา (จากชาวโปรตุเกส)" ส่วนการออกเสียงนั้น หากออกเสียงเรียกแบบคนอเมริกัน เขาเรียกว่า "ยู คะ เล ลี่" ชาวฮาวายเอี้ยนเรียกมันว่า "อู คู เล่ เล่" ส่วนนักดนตรีสมัยใหม่ขี้เกียจพูดยาว ตั้งชื่อเล่นให้มันสั้นๆ ว่า "ยู้ค" จะเรียกอย่างไรก็ตาม ล้วนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเดียว กันหมด 

นอกจากมีหลายชื่อแล้ว Ukulele ยังไม่ได้มีแค่ขนาดเดียว ขนาดของมันเริ่มตั้งแต่ soprano ซึ่งเป็นขนาดดั้งเดิม ที่เหมาะสำหรับใช้เล่นตีคอร์ดสนุกสนาน ตามด้วย concert ที่คอยาวขึ้นเพื่อใช้เล่นแบบ fingerstyle ต่อด้วย tenor ที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกขั้น พร้อมเฟร็ตที่มากขึ้น และเสียงที่ทุ้มกังวาลกว่า ปิดท้ายด้วย baritone ที่ใหญ่ที่สุด และตั้งเสียงไม่เหมือนขนาดอื่น (ตั้งเสียงแบบสี่สายล่างของกีตาร์ปกติ) เสน่ห์อีกอย่างของ Ukulele คือไม้ที่นำมาทำ หากจะให้ถูกตามต้นตำรับแล้ว เขาต้องใช้ไม้ Koa ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงและเริ่มหายาก ไม้ชนิดนี้ให้สุ้มเสียงสดใส แหลมพุ่ง ถูกใจเซียน Ukulele มากที่สุด ปัจจุบันนอกจากจะใช้ไม้แบบต้นตำรับแล้ว ยังมีการนำไม้ชนิดเดียวกับที่ใช้ทำกีตาร์ เช่น Spruce Mahogany Maple มาประกอบเป็นเจ้าตัวจิ๋วนี้ ไม้แต่ละชนิดให้เสียงแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน ระยะหลังมีผู้ผลิตรุ่นใหม่ นำไม้แปลกๆ เช่น Mango มาทำก็มี ว่ากันว่าไม้มะม่วงนี้ เปล่งเสียงออกมาได้ใกล้เคียง Koa มากทีเดียว ส่วนผู้ผลิตหัวก้าวหน้ารายหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก กับการผลิต Ukulele จากไฟเบอร์กลาส ซึ่งก็ให้เสียงดีมีสไตล์ ต่างไปอีกแบบ 

ส่วนที่บ้านเรา ตอนนี้มีตัวแทนจำหน่ายหลายราย เริ่มนำ Ukulele เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกให้นักดนตรีไทยแล้ว แต่ออกจะหายากสักนิด และรุ่นใหญ่ๆ แพงๆ ดีๆ ไม่ค่อยมี ส่วนรุ่นถูกๆ ที่ขายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่คุณภาพไม่ดี เสียงเพี้ยนง่าย เป็นแบบตาดีได้ตาร้ายเสีย ต้องลองเล่น ลองบิดลูกบิดให้ดีก่อนซื้อ ผมเชื่อว่าไม่นานนี้น่าจะมี Ukulele ดีๆ ทยอยเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น ตามกระแส Ukulele Fever ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วโลก



 

4 ความคิดเห็น: